มีคำกล่าวของ ซุนวู นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีน คล้ายเป็นสำนวนชวนคิดโบราณเชิงปรัชญาว่า
” รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง “
ซึ่งให้ความหมายชัดเจนตรงตัวตัวอักษรว่า หากเรารู้จักกลยุทธ์ และรูปแบบการรบของศัตรูเป็นอย่างดี หากเกิดศึกสงคราวรบกันคราใด ก็ย่อมพิชิตชัยชนะเหนืออีกฝ่ายได้ทุกครั้งไป
การทำข้อสอบก็คล้าย ๆ กับการออกไปรบทัพจับศึก อันมีไพร่พลและอาวุธ คือ ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาจากการพากเพียรเรียนหนังสือ เดินทัพไปเพื่อพิชิตศัตรู คือ ข้อสอบที่เราจะต้องเจอ
ในการทำศึก แค่เพียง “รู้เรา” นั้นไม่พอ
ไม่ว่าจะมีไพร่พลหรืออาวุธมากสักเท่าใด หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกต้อง ก็มีสิทธิที่จะพ่ายแพ้ได้ การมีความรู้ดี แม่นในเนื้อหาบทเรียน จึงไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะทำข้อสอบได้คะแนนเยอะ
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่หลายคนมองข้าม และทำให้ตกม้าตายในห้องสอบบ่อย ๆ คือการ “รู้เขา”
สำหรับการสอบทุก ๆ สนาม การ “รู้เขา” คือการรู้จักแนวข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นจากการสอบ Pre-test ของที่นั้น ๆ หรือจะเป็นการเคยดู เคยเห็น เคยทำ ข้อสอบเก่าจนอ่านกลยุทธ์ของข้อสอบออก และรู้ว่าจะต้องใช้ความรู้ที่มีติดตัวอย่างไร จึงจะนำไปสู่การเลือกคำตอบที่ถูกต้อง
เหตุนี้ ข้อสอบเก่า/แนวข้อสอบ จึงเป็นเครื่องมือชั้นดี ในการทำให้เรา “รู้เขา” ก่อนที่จะออกไปรบทัพจับศึกกับข้อสอบ
ขอให้จำไว้ว่า หากเพียบพร้อมด้วย ไพร่พล อาวุธยุทโธปกรณ์ และรู้จักกับกลยุทธ์ของคู่ต่อสู้ดีแล้ว ชัยชนะจะตกเป็นของใครไปไม่ได้ นอกจาก ผู้เตรียมตัวพร้อมรบอยู่เสมอ.