เฉลยข้อสอบ สสวท.

     ว่ากันว่า หากจะพูดถึงข้อสอบทางวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังและได้รับความเชื่อถือจากครูบาอาจารย์ รวมทั้งพี่ป้าน้าอาที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนตัวน้อยๆที่น่ารักทั้งหลายนั้น

     หลายท่าน ก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ก็ต้องเป็นข้อสอบวิทยาศาสตร์ของ สสวท. น่ะซิ

     ใช่แล้วครับ ข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของ สสวท. นั้น เป็นข้อสอบมาตรฐานระดับประเทศที่ถือเป็นแม่แบบที่มักถูกนำไปอ้างอิง หรือถูกนำไป (แอบ) ดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ในการสอบต่างๆอีกมากมายเลยครับพี่น้อง

     “หือ… ขนาดนั้นเลยเหรอ” พี่ป้าน้าอาบางท่านที่ไม่ได้ข้องแวะกับการเรียนสายวิทยาศาสตร์อาจนึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พร้อมกับอาจมีเครื่องหมายคำถามอย่างมากมายอยู่ในใจ

     ครับ งั้นผมจะเล่ารายละเอียดแบบย่อๆ ให้ฟังนะครับ…

     การสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของ สสวท. นั้นคือการสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ครับ โดยจะมีการสอบเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งนักเรียนคนไหนอยากจะสอบก็สมัครได้เลย ไม่มีการคัดเกรด และไม่มีโควต้าว่าต้องส่งตามชื่อโรงเรียนไม่เกินโรงเรียนละกี่คน อย่างงี้เป็นต้น

     พูดง่ายๆว่าเป็นการเปิดสอบแบบ Open นั่นแหละครับ โดยการสอบจะเป็นแบบที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Multiple-choice ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นข้อสอบแบบปรนัย หรือถ้าจะพูดกันแบบบ้านเราก็คือข้อสอบแบบเลือกคำตอบ ก. ข. ค. ง. นั่นแหละครับ 

     พอสอบรอบแรกเสร็จเรียบร้อย ทาง สสวท. ก็จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งปกติก็จะมีจำนวนประมาณหนึ่งพันคนเศษครับ

     น้อง ๆ หนู ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกมาได้ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับ เพราะนักเรียนที่สมัครเข้าสอบในแต่ละปีนั้น มีเป็นหมื่นๆคนเลยนะครับ

     แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ! เนื่องจากว่าเป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพ ดังนั้นเพื่อให้ได้นักเรียนที่มีแววจริงๆ นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ก็จะต้องสอบคัดเลือกในรอบที่สองอีกครั้งครับ โดยคราวนี้จะเป็นการสอบแบบอัตนัย ก็คือต้องเขียนตอบครับ

     พอสอบรอบสองเสร็จก็จะมีการประกาศผลสอบในรอบสอง ซึ่งตามปกติก็จะประกาศผู้ที่สอบผ่านรอบนี้ประมาณหนึ่งร้อยคนครับ

     ซึ่งทั้งร้อยคนเศษที่ประกาศในรอบนี้ จะได้เหรียญรางวัลกันทุกคนนะครับ โดยจะเป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง ก็เป็นไปตามคะแนนที่ทำได้ไล่เรียงกันลงมา และหลังจากนั้น ก็จะมีการสอบอีกครั้งในรอบที่สามครับ

     “ตายๆ ทำไมสอบหลายรอบจัง” พอมาถึงตรงนี้ บางท่านอาจนึกวิตกจริตว่าทำไมมันยากเย็นอะไรปานนี้

     เลยขอเล่าให้พี่ป้าน้าอาคลายความกังวลว่า รอบที่สามนี้จะเป็นรอบสุดท้ายแล้วครับ ซึ่งรอบนี้จะเป็นการสอบแบบทำการทดลองนะครับ

     “อ้าว…งั้นตายอย่างแน่นอนเลยทีนี้” บางท่านอาจนึกอย่างนี้อยู่ในใจ ด้วยรู้ดีว่าบุตรหลานของตนนั้นต้องทดลองอะไรไม่เป็นแน่ๆเลย เพราะไม่เคยได้ยินลูกๆมาเล่าให้ฟังว่าคุณครูพาให้ทำการทดลองนู่น นี่ นั่น บ้างเลย แล้วก็พานคิดไปไกลถึงขนาดว่าจะพาลูกๆ ไปติวกับติวเตอร์ที่โฆษณาว่าจะสอนให้เด็กๆทำการทดลองไปด้วยเรียนไปด้วย

     ก็ไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอกครับ เพราะข้อสอบภาคปฏิบัติในรอบสามนี้ไม่ได้ต้องการเทคนิคการทดลองอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนถึงขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่ต้องอาศัยไหวพริบของมันสมอง ซึ่งน้องๆที่สอบผ่านมาถึงรอบนี้ได้นั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีมันสมองที่ไม่ธรรมดากันทั้งนั้นแล้วครับ

     ดังนั้น ก็อาจไม่มีความจำเป็นอะไรขนาดนั้น แต่ถ้ามีกำลังทรัพย์และมีเวลาเพียงพอ การไปติวก็ย่อมดีกว่าการไม่ได้ติวนั่นแหละครับพี่น้อง…

     ทีนี้ พอสอบรอบสามเรียบร้อย ก็จะมีการประกาศผลอีกครั้ง ซึ่งนักเรียนที่สอบผ่านในรอบนี้ก็จะได้เข้าสู่โครงการอบรมตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้วล่ะครับ ซึ่งนักเรียนตัวน้อยๆที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้ ก็จะได้รับโอกาสต่างๆมากมายเลยทีเดียวครับ 

     “ฟัง ๆ แล้วชั้นไม่พาลูก ๆ ไปสอบดีกว่า เพราะเค้าไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้น” พี่ๆบางท่านอาจหันไปมองลูกแล้วคิดในใจแบบนี้


     อย่าคิดอย่างนั้นเลยครับ…

     การเข้าสอบแข่งขันนั้นถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เด็กๆควรได้รับโอกาสนั้น ถึงแม้ว่าจะไปไม่ถึงดวงดาวก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากมาย สำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือหนังหาก่อนที่จะเข้าสู่สนามสอบ เพราะถึงแม้ไม่ผ่านอะไรเลย อย่างน้อยเราก็ได้ความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือในคราวนั้นๆอย่างแน่นอนครับ

     และการเตรียมตัวสอบนั้นนอกจากจะอ่านเนื้อหาในบทเรียนแล้ว ยังมีเรื่องที่สำคัญมากๆอีกอย่างนึงก็คือการลองทำข้อสอบเก่าๆดู ซึ่งก็จะได้รู้ว่าเรารู้อะไร หรือไม่รู้อะไรมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจเราก็กลับไปทบทวนอีกครั้ง ซึ่งถ้าพี่ป้าน้าอาจะช่วยสอนลูกๆเพิ่มเติมด้วย ก็ยิ่งดีเลยครับ


     และเพื่อช่วยๆกันเตรียมตัวสอบ ผู้น้อยคนนี้เลยพยายามจะเฉลยข้อสอบวิทยาศาสตร์ สสวท.  ซึ่งก็เพื่อให้น้องๆหนูๆได้เรียนรู้เพิ่มเติม โดยหวังไว้ในใจลึกๆว่า ถึงแม้ว่าน้องๆหนูๆหลายๆคนอาจจะไม่ได้พกมันสมองที่เป็นเลิศมาตั้งแต่เกิด แต่เราก็เรียนรู้เพิ่มเติมได้ 


     อย่างน้อยก็ขอให้คิดเป็น ก็เป็นพอ…